แต่ไหนแต่ไรมาหมอจะรู้จักว่า “ยาทำแท้ง” ที่ใช้กันทั่วไปคือยา Misoprostol ทั้งที่ตอนแรกถูกใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหาร แล้วบังเอิญพบว่ามีฤทธิ์ในการช่วยเพิ่มการบีบตัวของมดลูก จนผู้ใช้คลอดก่อนกำหนดขึ้นมา และมีการมาใช้ทำแท้งในที่สุด ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศให้ยา Misoprostol เป็นยาควบคุมพิเศษที่บริษัทจะขายให้เฉพาะโรงพยาบาลเท่านั้น คลินิกหมอไม่สามารถหามาใช้ได้

แม้ว่ายา Misoprostol จะเป็นยาที่มีประสิทธิผลในการยุติการตั้งครรภ์ที่ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะยุติการตั้งครรภ์ไม่สำเร็จอีกกว่า 10% นักวิจัยจึงได้หายาต่าง ๆ มาช่วยเสริมฤทธิ์การทำงานของ Misoprostol จนได้พบกับยา RU-486 หรือ Mifepristone ที่ทำหน้าที่ยับยั้งฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการฝังตัวของตัวอ่อนได้ดี และองค์การอนามัยโลกก็ได้บรรจุยา Mifepristone + Misoprostol ชนิด Combination Pack อยู่ในบัญชียาจำเป็น (List Of Essential Medicines) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562

ส่วนในประเทศไทยก็ได้เริ่มศึกษาวิจัยยา Mifepristone + Misoprostol ชนิด Combination Pack ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยความร่วมมือกันระหว่าง Concept Foundation และสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ จนกระทั่งยาได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เลขทะเบียนตำรับยา 2C33/57(NC) ระบุให้ใช้ในการยุติการตั้งครรภ์ในมดลูกที่อายุครรภ์ไม่เกิน 63 วัน และได้รับการบรรจุเป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ด้วยความที่ยาดังกล่าวยังเป็นยาในบัญชี จ(1) ที่ต้องได้รับการติดตามเป็นพิเศษโดยหน่วยงานรัฐ กรมอนามัยและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงต้องจัดทำโครงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยทางการแพทย์ด้วยยาในระบบบริการสุขภาพในการสร้างระบบกำกับติดตามผลทางคลินิกและหางบประมาณในการจัดซื้อยา ผลที่ตามมาก็คือสถานพยาบาลทั้งโรงพยาบาลและคลินิกต้องจัดทำรายงานการใช้ยา Mifepristone + Misoprostol ชนิด Combination Pack ส่งให้กรมอนามัย เพื่อประกอบการรายงานผลการดำเนินการโครงการให้กับคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นระยะ ๆ

สิ่งที่ต้องทำต่อไปเพื่อขจัดอุปสรรคต่อการเข้าถึงยายุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย คือ 1. การผลักดันให้ยา Mifepristone + Misoprostol ชนิด Combination Pack ถูกปรับให้เป็นยาในบัญชี ก-ค เพื่อให้แพทย์ทุกคนสามารถใช้ยุติการตั้งครรภ์ได้ตามกฎหมายอาญาฉบับที่ 28 และ 2. ผลักดันให้ยา Misoprostol ที่มีประโยชน์อย่างกว้างขวางในทางสูตินรีเวชกรรมเข้ามาอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจะต้องปลดล็อกให้คลินิกเวชกรรม หรือร้านยาสามารถจ่ายยาได้ตามใบสั่งของแพทย์ 

และความหวังที่จะได้เห็นเรื่องการยุติการตั้งครรภ์เป็นบริการสุขภาพปกติก็จะใกล้เข้ามาอีกก้าวหนึ่ง

นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง
26 พ.ค. 66 เวลา 1.03 น.

บัญชี จ(๑) รายการยาสำหรับโครงการพิเศษของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีการกำหนดวิธีการใช้และการติดตามประเมินการใช้ยาตามโครงการ โดยมีหน่วยงานนั้นรับผิดชอบ และมีการรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นระยะตามความเหมาะสม เพื่อพิจารณาจัดเข้าประเภทของบัญชีย่อยอื่นในบัญชียาหลักต่อไปเมื่อมีข้อมูลเพียงพอ

เอกสารอ้างอิง

1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 23. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 89ง, 2544.
2. ศูนย์ติดตามอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. อันตรายจากการใช้ยา misoprostol ในทางที่ผิด. จดหมายข่าว APR; 2544.
3. World Health Organization Model List of Essential Medicines, 21st List, 2019. Geneva; 2019.
4. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์. https://porta.fda.moph.go.th/fda_search_all/main/search_center_main.aspx. สืบค้นวันที่ 26 พฤษภาคม 2566

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.6 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 19

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้