ครบรอบ 2 ปี แก้ไขกฎหมายทำแท้ง แต่ไร้ทางออกให้ผู้ประสงค์ยุติการตั้งครรภ์ กลุ่มทำทางกรวดน้ำ คว่ำขัน สาปส่ง รมต.สาธารณสุข
.
.
วันนี้ ( 7 ก.พ. 66) กลุ่มทำทางกว่า 20 คน ได้ร่วมกันแต่งชุดขาวเพื่อทำกิจกรรมบริเวณหน้าสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการนิมนต์พระสงฆ์รับสังฆทาน เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณที่ต้องสูญเสียเนื่องจากผลกระทบของการละเลย เพิกเฉย และไม่มีแนวทางปฏิบัติบังคับใช้ตามกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ซึ่งประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564
โดยตัวแทนกลุ่มทำทาง ชี้แจงก่อนเริ่มกิจกรรมว่า
“ตัวบทกฎหมายที่ถูกแก้ไขเหมือนจะดูดี แต่จากสถานการณ์ที่พวกเราทำงาน กลับพบว่ามีผู้หญิงจำนวนมากที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ไม่รู้จะไปใช้บริการปลอดภัยได้ที่ไหน นี่เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่เคยแจ้งอย่างชัดเจนเรื่องสถานบริการ ขณะเดียวกันสถานบริการของรัฐหลายแห่งก็ปฏิเสธการให้บริการนี้ ทั้งด้วยการโน้มน้าวให้ผู้ตั้งครรภ์ตั้งครรภ์ต่อ และการอ้างถึงความไม่พร้อมของหน่วยบริการ
… จึงกลายเป็นว่ายังมีคนไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งได้ทั้งที่กฎหมายแก้ไขแล้ว ทั้ง ๆ ที่สามารถใช้สิทธิจากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ นั่นไม่ต่างอะไรจากการผลักให้ผู้หญิงหันไปใช้บริการทำแท้งเถื่อนที่จะต้องเสี่ยงต่อชีวิต ร่างกาย และจิตใจ”
จากนั้น จึงได้มีการถวายสังฆทาน ทำบุญให้กับดวงวิญญาณที่ต้องประสบภัยจากความนิ่งเฉยของรัฐ ซึ่งคุณสุไลพร ชลวิไล นักเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงสถานการณ์เพิ่มเติม
“บางทีคุณอาจไม่รู้ว่า ใครคนหนึ่งที่คุณรู้จักอาจเคยผ่านประสบการณ์ทำแท้งมา เพราะคนที่ทำแท้งบนโลกและประเทศนี้มีมากกว่าที่คิด แต่เพราะอคติและการตีตราในสังคม ทำให้เราไม่มีโอกาสทราบจำนวนของผู้ที่ต้องการเข้าถึงบริการอย่างแท้จริง และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สามารถทำให้การทำแท้งในปัจจุบันนั้นปลอดภัยได้ มากกว่าการต้องไปเสี่ยง…แต่เพราะเหตุผลเบื้องหลังของการตัดสินทำแท้ง ล้วนไม่มีใครอยากฟัง … สุดท้ายแล้วนี่เป็นความเสี่ยงที่จะเพิ่มจำนวนความสูญเสีย ทั้งที่ประเทศนี้มีบริการทำแท้งปลอดภัย”
.
.
ต่อมากลุ่มทำทางได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดดําเนินการ ให้หน่วยงานภายใต้สังกัดปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28 ) พ.ศ.2564 โดยมีตัวแทนจากสำนักปลัดฯ เป็นผู้รับมอบ ซึ่งมีข้อเรียกร้องบางส่วน ดังนี้
1.ประกาศรายชื่อสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และรายชื่อหน่วยงานให้การปรึกษาทางเลือกทั่วประเทศ ให้ประชาชนรับทราบ
2.กําหนดให้สถานบริการสาธารณสุขภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดําเนินการจัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย อย่างน้อยจังหวัดละ 1 สถานบริการ โดยกําหนดเป็นตัวชี้วัดระดับกระทรวง ว่าจะต้องเพิ่มจํานวนสถานบริการให้ได้อย่างน้อยปีละ 5-10 สถานบริการ
3.กําหนดให้สถานบริการสาธารณสุข ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่ต้องการจัดตั้งหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย มีหน้าที่ที่จะต้องส่งต่อผู้รับบริการไปยังสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามระบบ โดยมีแผนผังการดําเนินการ หรือกลไกส่งต่อที่ชัดเจน เพื่อแน่ใจได้ว่าผู้รับบริการ จะได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยจนสิ้นสุดกระบวนการ
(อ่านจดหมายเปิดผนึกทั้งหมดที่ https://drive.google.com/file/d/12PpMYLVhtBEzi5JKbKz9JPjmGE9WxFA4/view?usp=sharing )
ขณะเดียวกันได้มีตัวแทนกลุ่มฯ ในฐานะผู้หญิงที่เคยผ่านประสบการณ์ทำแท้ง ร่วมเปิดเผยความรู้สึกผ่านสื่อมวลชนว่า
“จนถึงวันนี้ แม้จะมีการแก้กฎหมายผ่านไป 2 ปี แต่เราก็ยังไม่รู้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมจากหน่วยงานรัฐหรือหน่วยบริการเลย มีเปิดให้บริการที่ไหน ราคาเท่าไหร่ ใช้สิทธิไหนได้บ้าง การไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพลักษณะนี้ได้ มันหมายถึงถูกบังคับให้ท้องต่อ ทั้งที่อาจจะไม่มีความพร้อม เหมือนกับว่ากฎหมายถูกแก้ให้มันผ่าน ๆ ไป …ทำไมผู้มีอำนาจในกระทรวงถึงนิ่งเฉย ไร้ความชัดเจน และไม่ทำหน้าที่ของตัวเองได้ขนาดนี้”
ท้ายที่สุด ได้มีกิจกรรมคว่ำขัน ตัดขาด จากการบริหารราชการของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดำเนินงานโดยสร้างผลกระทบให้กับประชาชนในหลากหลายนโยบาย ทั้งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด รวมไปถึงการตัดงบบริการยุติการตั้งครรภ์และคุมกำเนิด สำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมและสิทธิข้าราชการ
ทั้งนี้ผู้สนใจข้อมูล และติดตามเรื่องราวที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามได้ที่แฟนเพจกลุ่มทำทาง และแฟนเพจคุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง
#ทำทาง #ทำแท้ง #รมตสาธารณสุข #อนุทิน
ที่มา :Facebook Fanpage – Rsathai