แม่ที่ลาคลอดได้ 90 วัน มาจากการต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน

กฎหมายลาคลอด 90 วัน ถูกบังคับใช้ในปี 2536 ก่อนหน้านั้นการที่แรงงานหญิงสักคนตั้งท้องจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงาน ผลกระทบที่ว่าคือด้านลบมากกว่าบวก

เมื่อตั้งท้อง ผู้หญิงบางคนถูกไล่ออกจากงาน บ้างต้องปกปิดการตั้งครรภ์ด้วยการรัดหน้าท้อง บ้างเลือกทำแท้ง เพราะการมีลูกอาจหมายถึงไม่มีงาน บางคนไม่กล้ากระทั่งไปพบแพทย์ เพราะการลาจะทำให้ถูกตัดเบี้ยขยัน แน่นอนว่ากระทบกับสุขภาพแม่และเด็กในครรภ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จริงอยู่ที่ก่อนปี 2536 กฎหมายระบุว่าสามารถลาคลอดบุตรได้ 60 วัน แต่ก็ได้รับค่าจ้างเพียง 30 วัน ด้วยสภาพเศรษฐกิจและพื้นฐานทางครอบครัวที่ไม่ได้มีสายป่านยาวนัก หลายคนจึงกลับเข้าไปทำงานหลังจากคลอดลูกน้อยได้เพียง 15 วันเท่านั้น แน่นอนว่าร่างกายยังไม่ฟื้นตัวกระทั่งพร้อมที่จะทำงานด้วยซ้ำ การเรียกร้องสิทธิลาคลอดที่ดีขึ้นจึงถูกผลักดันเรื่อยมา

กระทั่งปี 2535 การเรียกร้องสิทธิลาคลอด 90 วัน ประสบความสำเร็จ แต่มันเป็นความสำเร็จเพียงซีกเดียว เมื่อข้าราชการหญิงได้สิทธิลาคลอด 90 วัน โดยได้ค่าจ้างเต็ม จากเดิมที่ได้รับเพียงกึ่งหนึ่งหรือ 45 วันเท่านั้น ส่วนข้อเรียกร้องที่ต้องการให้บังคับใช้โดยเท่าเทียมกันกลับได้คำตอบกลับมาว่า “อย่ามักมาก”

สิทธิที่ไม่เสมอหน้านำไปสู่ความเดือดดาลของฟากผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะสหภาพแรงงานหญิงกว่า 500 คน ซึ่งรวมตัวเรียกร้องและกดดันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

7 มีนาคม 2536 เครือข่ายแรงงานเกาะกลุ่มกันเพิ่มมากขึ้น แรงงานนับพันเข้ายื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีการตอบรับใดๆ จากรัฐบาล

25 เมษายน 2536 เครือข่ายแรงงานที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลตัดสินใจอดข้าวประท้วง และเพิ่มการกดดันมากยิ่งขึ้นด้วยการกรีดเลือด เพื่อตอบโต้พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นซึ่งบอกว่า แรงงานที่มาประท้วงไม่ได้ท้องจริง

27 เมษายน 2536 ที่สุดรัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้อง นั่นคือให้สิทธิลาคลอด 90 วัน โดยยังได้รับค่าแรงเต็มจำนวน จึงนำไปสู่การคลี่คลายสลายตัวของผู้ชุมนุม

1 พฤษภาคม 2536 รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายลาคลอดอย่างเป็นทางการ

ในทางการแพทย์นั้น การได้สิทธิลาคลอด 90 วัน มีความหมายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากพิจารณาจากการฟื้นตัวหลังคลอด สำหรับการคลอดธรรมชาติแม่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวประมาณ 2 สัปดาห์ หากคลอดด้วยการผ่าตัด ระยะเวลาฟื้นตัวจะเพิ่มขึ้นเป็น 6-8 สัปดาห์ โดยแพทย์จะแนะนำให้แม่ออกแรงแต่น้อยในช่วง 3 เดือนหลังคลอด และ 3 เดือนนี้เองที่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่แม่จะได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับลูก เมื่อพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้ว เด็กจะเริ่มหลับยาวได้มากขึ้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้แม่ได้พักผ่อนหรือกลับเข้าสู่การทำงานอีกครั้ง

อ้างอิง
https://tinyurl.com/2muxtek9
https://tinyurl.com/yc4s496d
https://tinyurl.com/yc3kbzua

ที่มา :Facebook Fanpage – Rsathai

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 0 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 0

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้