#ประสบการณ์ส่งต่อผู้ต้องหาหญิงท้องไม่พร้อม เช้าวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับเคสส่งปรึกษาจากหอผู้ป่วยนรีเวชกรรมว่า มีแม่วัยรุ่นมาด้วยเลือดออกทางช่องคลอด เมื่อได้คุยจึงพบว่า เอิงเอย (นามสมมติ) อายุ 18 ปี ประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม เธอไม่ได้มาโรงพยาบาลกับญาติ แต่มาพร้อมกับผู้คุมของราชทัณฑ์ ! ใช่ค่ะ เธอเป็นผู้ต้องหาที่โดนจับในคดียาเสพติด และใช้สารเสพติดก็เพียงเพื่อต้องการทำให้ตนเองแท้ง…
.
ในระหว่างการควบคุมตัว เธอปวดท้อง และมีเลือดออกทางช่องคลอด จึงถูกนำตัวมารับการรักษา หลังรับการตรวจรักษา ครรภ์ของเธอยังปกติดี ไม่มีภาวะแท้ง พบว่า เอิงเอยมีอายุครรภ์ 21 สัปดาห์แล้ว เธอกังวล และทุกข์ใจอย่างมาก หลังจากประเมินสุขภาพจิต และให้การปรึกษาทางเลือก เธอตัดสินใจที่จะยุติการตั้งครรภ์ ด้วยยังต้องการกลับไปเรียนหนังสือ และไม่ต้องการตั้งครรภ์ในขณะที่ต้องดำเนินคดีอยู่แบบนี้
.
ข้าพเจ้าได้ทำงานกับครอบครัวของเอิงเอยไปด้วย แม่ของเธอเพิ่งทราบว่าลูกตั้งครรภ์ ความจริง คือ เอิงเอยกับแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แม่ไม่เห็นด้วยที่จะให้เธอยุติการตั้งครรภ์ กระบวนการให้การปรึกษาครอบครัวจึงเป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญต่อการดำเนินการต่อ ท้ายที่สุดแล้ว แม่ก็ยอมรับในการตัดสินใจของเอิงเอย
.
โรงพยาบาลที่ข้าพเจ้าทำงานอยู่ไม่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในกรณีของเอิงเอย จึงต้องประสานโรงพยาบาลในเครือข่ายอาสา RSA ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ทาง RSA จะให้บริการโดยวิธีส่งยามาให้ผู้ป่วยดำเนินการเองที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาลที่ผู้รับการมีสิทธิ หรือใกล้บ้านเพื่อร่วมกันดูแล แต่ด้วยแพทย์โรงพยาบาลข้าพเจ้านั้นไม่เห็นด้วยที่จะให้ใช้ยาเอง อีกทั้งไม่ชัดเจนว่า ที่สถานที่ที่เธอต้องขังอยู่จะยินดีหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องขอให้แพทย์ทำใบส่งตัว ให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลเครือข่าย RSA อีกแห่ง ประสานผู้คุมที่ดูแลเอิงเอย แจ้งสิทธิในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ และให้ส่งต่อเอิงเอย ไปรับบริการต่อไป
.
ผ่านไป 3 วัน ข้าพเจ้าประสานไปยังหน่วยงานราชทัณฑ์ ปรากฏว่า เอิงเอยยังไม่ได้ไปรับบริการ และยังไม่มีคำตอบว่าจะได้ไปเมื่อไหร่ ด้วยติดปัญหาระเบียบการส่งไปรักษายังโรงพยาบาลต่างจังหวัด ของหน่วยงานราชทัณฑ์เอง ข้าพเจ้าจึงได้อธิบายถึงความจำเป็นเร่งด่วนเนื่องจากอายุครรภ์มากแล้ว โดยขอให้รายงานหัวหน้าหน่วยเพื่อเร่งดำเนินการ เพราะปัญหาของหน่วยงานนั้นจะส่งผลให้เอิงเอยไม่ได้รับสิทธิบริการทางสุขภาพหากอายุครรภ์มากขึ้น และทางเครือข่าย RSA คงต้องมีการเรียกร้องสิทธินี้ให้กับเอิงเอย และนี่อาจเป็นข่าวได้
.
ข้าพเจ้าแจ้งทางราชทัณฑ์ไปตามนั้นด้วยความสุจริตใจ เพราะว่านี่คือสิทธิของการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายที่ผู้หญิงพึงได้รับ ในที่สุด เอิงเอยก็ได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ และฝังยาคุมกำเนิด และเข้าสู่กระบวนการทางยุติธรรม ซึ่งเห็นได้ว่า สถานะ “ผู้ต้องหา” ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างยากลำบาก ถ้าเอิงเอยเข้าถึงบริการนี้ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ไม่มาก เธอคงไม่ต้องไปเสพยาเพื่อหวังผลให้แท้ง และนำพาชีวิตมาสู่การถูกกักขัง
.
ทุกวันนี้เชื่อว่า ยังมีผู้หญิงหลายคนเข้าไม่ถึงช่องทางการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ยังมีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ใช้วิธีการที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเธอเอง ทั้งที่กฎหมายให้สิทธิในทางเลือกนี้อย่างปลอดภัยแล้ว หน่วยงานของรัฐ จึงต้องมีบริการให้การปรึกษาในเรื่องนี้ หรือมีช่องทางส่งต่อ หากผู้ใช้บริการที่อยู่ในความดูแล ต้องพลาดโอกาสในการใช้สิทธิอันพึงมีพึงได้นี้ หน่วยงานนั้นควรต้องทบทวนตัวเองในเรื่องการให้บริการว่า ดูแลผู้ใช้บริการครบทุกมิติหรือยัง ?
.
ขอขอบคุณทีมเครือข่าย RSA ขอบคุณอาจารย์ชัชวาล ก่อสกุล โรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่ช่วยเหลือเอิงเอยให้ผ่านวิกฤตนี้ของชีวิตไปได้
.
เรื่องโดย คุณปาริษา ด้วงทอง นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลตรัง
.
“นักสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาล” มีบทบาทประเมินด้านสังคมกับแม่วัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ทุกราย ทั้งแผนกฝากครรภ์ และ ผู้ป่วยใน สำหรับผู้ป่วยในนั้น เมื่อมีแม่วัยรุ่นเข้ารับการรักษาไม่ว่าจะด้วยภาวะแท้งคุกคาม แพ้ท้อง ติดเชื้อ ตกเลือด ท้องนอกมดลูก ท้องลม หรือคลอด พยาบาลประจำหอผู้ป่วยจะประสานแจ้งมายังนักสังคมสงเคราะห์ ในกรณีผู้รับบริการที่มีเข้ารับการรักษาด้วยผลข้างเคียงจากการทำแท้ง มีประวัติเสพยาขณะตั้งครรภ์ เราจะเข้าไปประเมินทุกกลุ่มอายุ เพื่อการเตรียมผู้ป่วยและครอบครัว ป้องกันปัญหาทางสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
https://www.rsathai.org/contents/18435 #ท้องไม่พร้อม #rsathai
ที่มา :Facebook Fanpage – Rsathai