ยุติการตั้งครรภ์(ทำแท้ง) ทำได้มีกม.รองรับ หมอสูติฯ มอ. เผยการยุติการตั้งครรภ์ทำได้เพราะมีกฎหมายรองรับ แนะควรคำนึงถึงสุขภาพใจของผู้รับบริการเป็นหลัก
จากสถิติการสำรวจสถานการณ์การยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พ.ศ. ๒๕๕๕ มีอัตราการเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยของผู้หญิงไทยปีละ ๒๕–๓๐ คน และบาดเจ็บเพราะภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยประมาน ๓๐,๐๐๐ คน
นายธนพันธ์ ชูบุญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การยุติการตั้งครรภ์ (ทำแท้ง) สามารถทำได้โดยขึ้นอยู่กับสองเหตุผล
ประการแรก : เหตุผลทางกฎหมาย เมื่อการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดทางอาญาในกรณีข่มขืนและกรณี เกี่ยวเนื่องกับการจัดหาบริการทางเพศที่มีการข่มขู่เพื่อซื้อขายบริการทางเพศ แพทย์ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงผู้หญิงตั้งครรภ์อายุไม่เกิน ๑๕ ปีบริบูรณ์ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ เพราะมีกฎหมายคุ้มครองผู้เยาว์
ประการที่สอง : เหตุผลทางการแพทย์ หากการตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพของผู้หญิง ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ทั้งสองประการดังกล่าวก็มิได้ทำให้แพทย์ทุกคนตัดสินใจให้บริการยุติการตั้งครรภ์
นางทัศนัย ขันตยาภรณ์ ที่ปรึกษามูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมต่างมีเหตุผลที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจกำลังศึกษาอยู่ ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ถูกผู้ชายทอดทิ้ง เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ หรือมีบุตรมากแต่มีฐานะยากจน อีกทั้งสังคมไทยยังไม่เปิดกว้าง เพราะเข้าใจผิดในเรื่องกฎหมาย เรื่องบาปบุญทำให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมไม่กล้าตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์
นางทัศนัย กล่าวต่อว่า แม้ในปัจจุบันจะมีโครงการรณรงค์เรื่องการยุติการตั้งครรภ์หลายโครงการ แต่ไม่ได้ทำให้คนในสังคมเข้าใจผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและอยากยุติการตั้งครรภ์มากเท่ากับการได้สัมผัสชีวิตของเขา และรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งอาจทำให้คนในสังคมเปลี่ยนความคิดในเรื่องยุติการตั้งครรภ์ได้
ที่มา : การประชุมระดับชาติ เรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 1
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นนทบุรี