เป้าหมายของการดูแลหลังคลอด คือ ให้ผู้หญิงมีการเตรียมความพร้อมในการดูแลบุตรในระยะยาวท่ามกลางข้อจำกัด และมีความคิดชัดเจนต่อทางเลือกหลังคลอดว่าจะเลี้ยงดูเอง หรือยกมอบบุตร และการป้องกันการท้องไม่พร้อมในอนาคตด้วยการคุมกำเนิดกึ่งถาวร ส่วนเป้าหมายสำหรับเด็ก คือ เด็กมีสุขภาพดี ได้รับนมแม่ และวัคซีนตามนัด รวมทั้งมีครอบครัวเลี้ยงดูในระยะยาว

ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และตั้งครรภ์ต่อ ภาวะความไม่พร้อมอาจยังมีอย่างต่อเนื่องจนถึงหลังคลอด ดังนั้น ช่วงหลังคลอด จึงควรได้รับการปรึกษาเพื่อให้การตัดสินใจต่อทางเลือกเป็นไปอย่างสอดคล้องเหมาะสมกับชีวิตของผู้หญิงการเสริมพลัง สร้างความเชื่อมั่น และความพร้อมในสิ่งที่ผู้หญิงได้ตัดสินใจเลือกแล้ว

 

ทางเลือกหลังคลอด มีดังต่อไปนี้

  1. ต้องการเลี้ยงดูบุตรเอง แม้ว่าตัดสินใจเลี้ยงดูบุตรเอง สำหรับบางคนอาจยังไม่พร้อมในช่วงแรก เนื่องจากยังต้องกลับไปทำงาน ไปเรียนต่อ หรือมีความจำเป็นบางประการ สามารถขอคำปรึกษา หรือติดต่อหน่วยงานรองรับ โดยขอปรึกษาศูนย์พึ่งได้ หรือฝ่ายสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลที่ฝากท้องคลอด บ้านพักเด็กและครอบครัว หรือ ปรึกษาหน่วยงานเอกชนที่ทำงานในด้านนี้ ประเด็นสภาพปัญหา และแนวทางช่วยเหลือที่มีอยู่ และข้อจำกัดของแนวทางนี้
  • ต้องการที่พักพิงระหว่างรอคลอด แนวทางการช่วยเหลือที่มีอยู่ : เข้าพักที่บ้านพักรอคลอดมีทั้งดำเนินการโดยภาครัฐและเอกชน ภาครัฐ คือ บ้านพักเด็กและครอบครัว ปัจจุบันมีบริการทุกจังหวัด ภาคเอกชน ได้แก่ บ้านพักฉุกเฉิน บ้านสุขฤทัย บ้านพระคุณ เป็นต้น  ข้อจำกัด : บ้านพักเด็กและครอบครัวในแต่ละจังหวัด มีความพร้อมในการดูแลผู้หญิงท้องไม่พร้อมแตกต่างกัน  บ้านพักของรัฐและเอกชนแต่ละแห่ง มีเงื่อนไขการรับเข้าพักและเกณฑ์ในการอยู่อาศัยแตกต่างกัน ควรศึกษาเงื่อนไขเหล่านั้นก่อนตัดสินใจเข้าพัก

  • ไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูหลังคลอด แนวทางการช่วยเหลือที่มีอยู่ :

    • ส่งเด็กเข้าสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน ด้วยการฝากเลี้ยงชั่วคราวในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยในระหว่างนี้สามารถไปเยี่ยมเด็กได้จนกระทั่งมีความพร้อมแล้วจึงรับเด็กมาเลี้ยงดูเอง ข้อจำกัด : สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนมีบริการในบางจังหวัด มีสัดส่วนพี่เลี้ยงต่อจำนวนเด็กมาก การดูแลไม่ทั่วถึง
    • การส่งเด็กไปอยู่ในครอบครัวอุปถัมป์ชั่วคราวด้วยการฝากเลี้ยงในวันธรรมดา เพื่อให้มารดาได้ทำงาน หรือเรียนหนังสือ และรับเด็กมาเลี้ยงเองในวันหยุด โดยสามารถรับเด็กมาเลี้ยงดูเองได้เมื่อมีความพร้อม ข้อจำกัด : มีบริการที่หน่วยบริการของเอกชน เช่น สหทัยมูลนิธิ ครอบครัวอุปถัมป์มีจำกัดอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ

  • ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้เพียงพอเพื่อเลี้ยงดู แนวทางการช่วยเหลือที่มีอยู่ :
    • ติดต่อขอรับการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือเฉพาะหน้า 2,000 บาท นมผงเด็กอ่อน หรือความช่วยเหลือด้านการฝึกอาชีพจากหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ หรือสอบถามข้อมูลได้จาก 1300 ข้อจำกัด : มีระยะเวลาในการช่วยเหลือ ดังนี้
      • เงินสงเคราะห์ช่วยเหลือเฉพาะหน้า ขอได้ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี
      • นมผง ให้สงเคราะห์ประมาณ 3-6 เดือน
      • การฝึกอาชีพ มีอาชีพให้เลือกไม่หลากหลายนัก

2. ไม่เลี้ยงเองแต่ต้องการยกให้ผู้อื่นเลี้ยงดูถาวร หากรับบริการปรึกษาทางเลือก คิดทบทวนจนได้ข้อสรุปว่า ไม่มีความพร้อมที่จะสามารถเลี้ยงดูบุตรได้อย่างแน่นอนแล้ว สามารถยกมอบบุตรโดยใช้บริการรับเลี้ยงเด็กของสถานสงเคราะห์ทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งสถานสงเคราะห์ยังมีบริการประสานกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เพื่อจัดบริการครอบครัวบุญธรรมให้กับเด็กต่อไป ซึ่งกรณีนี้เป็นการยกสิทธิการเลี้ยงดูบุตรให้ผู้อื่น หรือหน่วยงานอื่น เป็นผู้เลี้ยงดูและมีสิทธิในตัวเด็กแทนมารดา โดยมีข้อกฎหมายผูกผันรองรับ โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ

  • ส่งเข้าสถานสงเคราะห์ถาวร : เด็กจะได้รับการดูแลในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน จนกระทั่งมีผู้มาขอรับเป็นบุตรบุญธรรม กรณีนี้หลังจากยกเด็กให้แล้ว ไม่สามารถขอเด็กคืนกลับมาเลี้ยงดูเองได้เช่นเดียวกับการฝากเลี้ยงชั่วคราว

  • ยกบุตรให้ผู้ต้องการอุปการะเลี้ยงดู : ซึ่งต้องทำตามขั้นตอนการรับบุตรบุญธรรม การไม่ผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องเด็กอาจถูกนำไปขายต่อในขบวนการค้ามนุษย์ได้ ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ในการเตรียมเอกสารเพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของเด็กในระยะยาว เพราะแม้จะไม่สามารถเลี้ยงดูเองได้ ก็ขอให้ส่งเด็กไปในที่ๆ ดีและปลอดภัย

การดูแลปัญหาอื่นๆ

  • สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ต่อ หากเป็นกรณีที่เป็นคดี เช่น ถูกใช้ความรุนแรง ถูกล่วงละเมิด เป็นต้น ขอรับบริการเพื่อช่วยสนับสนุนหรือติดตามความคืบหน้าของคดีในกระบวนการยุติธรรม จากหน่วยงานที่ให้การดูแลเรื่องนี้ เช่น ศูนย์พึ่งได้ของโรงพยาบาล สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด บ้านพักเด็กและครอบครัว เป็นต้น
  • สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ต่อ หลังจากคลอดแล้วยังอยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น ยังพึ่งพาตนเองไม่ได้ ขาดคนดูแล มีปัญหาที่พัก ควรได้รับความช่วยเหลือด้าน “บ้านพักหลังคลอด” ให้ได้พักอาศัย จนกว่าจะมีความพร้อมมากพอในการดูแลตนเอง  หน่วยงานที่ให้บริการเรื่องนี้ได้ คือ บ้านพักเด็กและครอบครัวประจำจังหวัด หรือหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ ที่ให้บริการในด้านนี้

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.8 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 25

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้