ปี 2555 ได้ศึกษาสภาพปัญหาเชิงลึกถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ของวัยรุ่น ในอำเภอห้วยราช พบว่า วัยรุ่นตั้งครรภ์ขณะอยู่ในระบบการศึกษา  เกิดจากปัจจัยภายนอกด้านเครื่องมือสื่อสาร มีผลต่อการติดต่อที่สะดวกรวดเร็ว ผลจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยภายใน เช่น สนใจเพศตรงข้าม ใคร่รู้ ใคร่ลอง อยากมีแฟนตามกระแส พฤติกรรมและค่านิยมที่เปลี่ยนไป รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงเพศศึกษาและเข้าไม่ถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ของวัยรุ่น จึงจำเป็นต้องตั้งครรภ์และเปลี่ยนสถานะเป็นแม่วัยรุ่นโดยไม่พร้อม

พฤษภาคม ปี 2556 ดิฉันมีโอกาสไปอบรมเรื่องการดูแลวัยรุ่นและสตรีท้องไม่พร้อมเพื่อป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งจัดโดยศูนย์อนามัยที่ 5 ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งประเทศไทย ที่โรงแรมขวัญเรือน จังหวัดนครราชสีมา ดิฉันได้สะท้อนปัญหาให้ท่านวิทยากรทราบได้ปรึกษาเพื่อหาทางออก ได้รับคำชี้แนะ ซึ่งคิดว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกกับเครือข่ายการดูแลและส่งต่อวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์เพื่อป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัยในเขตบริการสุขภาพที่ 9 ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลซึ่งเป็นประธานคลินิกวัยรุ่นและทีมงานพิจารณาปรับรูปแบบบริการเพื่อการเข้าถึงและใช้บริการด้านสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ของวัยรุ่นและเยาวชน ท่านได้สมัครเป็นทีมแพทย์อาสาโครงการ TEEN UP CARE เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อดูแลวัยรุ่นและเยาวชน ให้ครบทั้ง 4 ด้าน คือ Safe Virgin, Safe sex, Safe MCH, Safe Abortion

วันที่ 20 มิถุนายน 2556 ดิฉันจึงได้ต่อเนื่องแนวทางที่ได้มา ด้วยการจัดประชุมระดับอำเภอเพื่อวางแผนพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายโดยบูรณาการและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรพื้นที่ในงานอนามัยวัยรุ่นและเยาวชน ทั้งสถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา ครอบครัว ชุมชนและอปท. เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน เพื่อกระตุ้นและผลักดันให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสม ได้พัฒนารูปแบบการทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายแบบบูรณาการ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติและทักษะชีวิต ให้แก่วัยรุ่น ตามหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เช่น อบรมครูเพื่อใช้หลักสูตรเพศวิถีศึกษารอบด้าน อบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับบุตรหลานเพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางเพศในเยาวชน มีบริการให้คำปรึกษานอกเวลาราชการตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทาง Hot line–Phone in counseling, Facebook : คลินิกวัยรุ่นห้วยราช และ Line ส่วนเชิงรับที่คลินิกวัยรุ่นได้จัดบริการแบบ ONE STOP SERVICE เพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงและใช้บริการอนามัยการเจริญพันธุ์ให้ครอบคลุมและตรงตามความต้องการสอดคล้องกับสภาพปัญหาของวัยรุ่น ได้ง่าย เร็ว ลับ อบอุ่นและปลอดภัย ประสานการดูแลช่วยเหลือกรณีตั้งครรภ์ไม่พร้อมโดยเป็นเครือข่ายแพทย์อาสารับส่งต่อเพื่อ Safe abortion การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในและนอกเขตนครชัยบุรินทร์

ผลการดำเนินงานปี 2557 พบว่าอัตราการเข้าถึงและใช้บริการสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่คลินิกวัยรุ่นเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า จาก 108 รายในปี 2556 เป็น 401 รายในปี 2557 รับบริการปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมเพิ่มขึ้น 10 เท่า จาก 18 รายในปี 2556 เป็น 190 ราย ในปี 2557 หลังให้การปรึกษา ผู้รับบริการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์กว่า 90% เป็นวัยรุ่นและเยาวชน 69% ในจำนวนนี้ 59% เป็นผู้รับบริการที่อายุน้อยกว่า 20 ปี  โดยผู้รับบริการ 95% เป็นประชากรในเขตนครชัยบุรินทร์ โดย 60% เป็นประชากรในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งในจำนวนนี้ 69% มาจากอำเภออื่นนอกเขตห้วยราช หลังยุติการตั้งครรภ์ผู้รับบริการ 40% เลือกใช้ยาฝังคุมกำเนิดมี 33% ไม่ได้คุมกำเนิดเนื่องจากแยกกันอยู่ และอีก 27% เลือกวิธีคุมกำเนิดอื่นๆ

จากการติดตามอัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปี ในเขตอำเภอห้วยราชมีแนวโน้มลดลง แต่การตั้งครรภ์ซ้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอัตราการเกิดมีชีพโดยมารดาอายุ 15-19 ปี ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน มีแนวโน้มลดลง จาก 54.75 ในปี 2556 เป็น 39.97 ในปี  2557

ก็ไม่รู้สินะกับชีวิตพยาบาล บางคนก็เวรเช้าต่อบ่าย บางคนก็เวรบ่ายต่อดึก ส่วนตัวดิฉันไม่มีเวรอะไร …รู้แต่ว่า…ต้องรับสายและให้ข้อมูลให้การปรึกษาทุกๆ ครั้ง….ที่เธอโทรมา มีผู้รับบริการปรึกษาเรื่องตั้งครรภ์ไม่พร้อมเพิ่มมากขึ้นถึง 100 ราย ใน 4 เดือนแรกของปี 2558 รู้สึกเหนื่อยล้าในบางเวลา เพราะปัญหาอุปสรรครอบด้าน ทั้งจากคนไข้ จากสังคมภายนอก และด้วยปัญหาสุขภาพของตนเองอีกทั้งความรู้สึกบาปที่ยังมีเกิดภายในใจ….

ยังดีที่มีกลุ่มจิตอาสาที่ร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาที่ยิ่งใหญ่และซับซ้อนโดยไร้ประโยชน์ส่วนตัว ผู้ทำอาจโดนตำหนิจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย อาจยกเว้นเพียงแต่ผู้ป่วยและญาติที่ยกย่องชื่นชม จึงต้องสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อให้กำลังใจกันทั้งในพื้นที่และวงกว้าง ส่งเสริมให้มีบุคลากรด้านการให้การปรึกษาทางเลือกในทุกโรงพยาบาล และควรมีสถานพยาบาลที่สามารถให้บริการ Safe Abortion ยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย อย่างน้อย 4 แห่งภายในจังหวัด พร้อมจัดบริการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร เช่น ยาฝังคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ

การนำหลักสูตรเพศวิถีศึกษาไปใช้ในสถานศึกษายังเป็นเรื่องท้าทาย ต้องใช้นโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนจากหน่วยงานราชการในส่วนกลางและต้องใช้ความเข้าใจ ความร่วมมือจากสถานศึกษาเพื่อให้เยาวชนมีความรู้ มีทักษะชีวิตมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การลด Teen Mom และประชากรมีคุณภาพต่อไป

ใครก็ได้??…โปรดช่วยกันรักษา “โรคท้องไม่พร้อม” ที่ … TEEN UP CARE….

เรื่องโดย คุณวิจิตรา วาลีประโคน
พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.3 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 4

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้