การทำแท้งในประเทศไทยไม่ได้ผิดกฎหมายทั้งหมด กฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถตัดสินใจทำแท้งได้โดยแพทย์ โดยมีข้อบ่งชี้เหตุผลทางการแพทย์เพื่อสุขภาพและชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งการตั้งครรภ์ที่เกิดจากความผิดทางเพศ ดังต่อไปนี้
- การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อชีวิตหรือสุขภาพทางกายของผู้หญิง
- การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา
- การตั้งครรภ์ในเด็กหญิงที่อายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าหญิงนั้นจะสมยอมหรือไม่ก็ตาม
- การตั้งครรภ์มาจากเหตุล่อลวง บังคับ หรือข่มขู่ เพื่อทำอนาจาร สนองความใคร่
- การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางใจของผู้หญิง (เพิ่มเติมในข้อบังคับแพทยสภา พ.ศ. 2548 ขยายความ ”สุขภาพ” ให้ครอบคลุมทางกายและใจ แต่ยังไม่ถูกระบุไว้ในกฎหมาย)
- ทารกในครรภ์มีความพิการ (เพิ่มเติมในข้อบังคับแพทยสภา พ.ศ. 2548 โดยใช้เหตุผลปัญหาสุขภาพทางใจของผู้หญิง แต่ยังไม่ถูกระบุไว้ในกฎหมาย)
ผลสำรวจโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจากโรงพยาบาล 243 แห่ง ใน 13 จังหวัดเมื่อปี 2557 พบว่าร้อยละ 30.8 ทำแท้งเนื่องจากเหตุผลทางด้านสุขภาพกาย ในขณะที่ร้อยละ 69.2 ทำแท้งด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว โดยใช้การตีความจากข้อบังคับแพทยสภาว่า ผู้ที่ต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้ มีปัญหาสุขภาพทางใจ
กฎหมายทำแท้งมีความเป็นมาอย่างไร? คลิกที่นี่ : https://rsathai.org/contents/13195