จากการประชุมเรื่อง “สังคม (ไม่)ทําอะไรกับท้องของวัยรุ่น” จัดโดยเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมครั้งที่46 (1/2562 ) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ในงานประชุมวิชาการสุขภาวะทางเพศระดับชาติครั้งที่ 3 ณ โรงแรม เซ็นทราศูนย์ประชุมวายุภักดิ์

สาระสำคัญของการประชุม

ผู้หญิงท้องต่อส่วนใหญ่อยู่ในภาวะจำยอม เพราะไม่สามารถทำแท้งได้เนื่องจากมีอายุครรภ์ที่สูง มีความเสี่ยงสูงต่อการทำแท้งเองและไม่ปลอดภัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่จะรู้สึกโดดเดี่ยว และต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดการยอมรับที่ตนเองจะต้องท้องต่อจนคลอดต่อไปผู้หญิงท้องไม่พร้อมและท้องต่อในลักษณะนี้จำนวนมากจึงไม่ได้ฝากครรภ์หรือมาฝากเมื่ออายุครรภ์มากแล้วใกล้คลอดและอาจตกอยู่ในสภาวการณ์เปราะบาง ต่อการตัดสินใจทิ้งลูกเมื่อคลอดแล้ว พบตัวอย่างกรณีวัยรุ่นท้องในชุมชน

จากประสบการณ์ของโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจังหวัดนครพนมวัยรุ่นยังไม่รู้สึกปลอดภัยหรือไว้วางใจเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือที่ซับซ้อน การเข้าถึงวัยรุ่นที่กำลังเผชิญปัญหายังเป็นไปได้ยาก

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

(1) ต้องนิยามความหมายอย่างเฉพาะเจาะจงกรณีผู้หญิงตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม และ “ท้องต่อ” เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ชีวิตของผู้หญิงที่เผชิญปัญหาจากท้องไม่พร้อมสู่การท้องต่อในภาวะจำยอมในช่วงระยะเวลาที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ต่อจนถึงกำหนดคลอด ถือว่าเป็นช่วงเวลาวิกฤติที่ต้องการบริการเพื่อดูแลสุขภาพ และการดูแลด้านสุขภาพจิต การนิยามความหมายที่ชัดเจนและแบ่งช่วงเวลาจะนำไปสู่การให้บริการทางสุขภาพและสังคมได้สอดคล้องกับความต้องการ

(2) การจัดบริการให้คำปรึกษาผู้หญิงท้องไม่พร้อมและต้องท้องต่อต้องมีเป็นกระบวนการที่มีคุณภาพและมีอย่างทั่วถึง เนื่องจากผู้หญิงท้องต่อส่วนใหญ่อยู่ในภาวะจำยอม เพราะไม่สามารถทำแท้งได้เนื่องจากมีอายุครรภ์ที่สูงมีความเสี่ยงสูงต่อการทำแท้งเองและไม่ปลอดภัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ข้อท้าทายที่สำคัญคือ กระบวนการให้คำปรึกษาในภาวะที่กดดัน ต้องช่วยให้ผู้หญิงไม่รู้สึกโดดเดี่ยว สามารถปรับสภาวะให้เกิดการยอมรับกรณีต้องท้องต่อ เพื่อให้เป็นท้องต่ออย่างมีคุณภาพและรอคลอดเพื่อหาทางออกที่สอดคล้องต่อไปได้

(3) มีการทำงานสร้างความเข้าใจระดับครอบครัว ชุมชนและสังคม เพื่อลดภาวะความกดดันต่อกรณีวัยรุ่นท้อง ถือเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประสบปัญหามีช่องทางการเข้าถึงการปรึกษาความช่วยเหลือและบริการที่ปลอดภัย โดยเฉพาะกระบวนการทำงานของชุมชน จึงมีความสำคัญทั้งในบทบาทการเฝ้าระวัง ดูแลและช่วยเหลือเด็กได้ การประคับประคองเด็กระหว่างเผชิญปัญหา และหากจำเป็นต้องส่งเข้าสู่หน่วยบริการนอกชุมชนจำเป็นต้องมีกระบวนการเตรียมความพร้อมสำหรับวัยรุ่นและชุมชน เพื่อพร้อมรับวัยรุ่นคืนสู่ชุมชนหลังความช่วยเหลือจากหน่วยงาน นอกจากนี้ในระดับท้องถิ่นต้องมีการสนับสนุนงานให้สภาเด็กและเยาวชนมีองค์ความรู้เรื่องสิทธิของของวัยรุ่นสิทธิทางเพศเพื่อจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเป็นไว้วางใจสำหรับวัยรุ่นกันเองและเป็นช่องทางเข้าถึงการส่งต่อช่วยเหลือ

(4) รัฐต้องสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของแม่วัยรุ่นและการดูแลคุณภาพชีวิตของเด็ก เพื่อให้แม่วัยรุ่นและเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นได้เติบโตเป็นประชากรคุณภาพเป็นทรัพยากรสำคัญของสังคมไทยขณะที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

(5) หน่วยบริการที่เกี่ยวข้องต้องมีการกำหนดเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน เช่น วางเป้าหมายให้แม่วัยรุ่นมีความแข็งแรงด้านวุฒิภาวะที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ท้องซ้ำโดยไม่พร้อม และเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างมีมาตรฐาน เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การวางแนวทางการและประสานส่งต่อบริการในทิศทางเดียวกัน

(6) การพัฒนาบุคคลากรในหน่วยบริการทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ให้คำปรึกษาต้องมีความเข้าใจต่อสภาพปัญหาของผู้หญิงที่ต้องท้องต่อเผชิญ ผู้ให้คำปรึกษาต้องได้รับการพัฒนาแนวคิดและมีทักษะการปรึกษาทางเลือก เน้นการฟื้นฟูพลังอำนาจภายในให้แม่วัยรุ่นเห็นคุณค่าตนเอง รับรู้สิทธิเข้าใจเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ

ดาวน์โหลดเอกสารคลิก

policybrief1-29-e0b89ee0b884.-62

ที่มา : https://choicesforum.org/policy-brief/ ข้อเสนอเชิงนโยบายฉบับที่หนึ่ง เพื่อใช้ขับเคลื่อนการพัฒนา “แนวทางการบริการและคุ้มครองสิทธิ์ของวัยรุ่นและผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่ตั้งครรภ์ต่อ” โดย เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท่ีท้องไม่พร้อม 1 กุมภาพันธ์ 2562

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.7 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 13

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้