ผู้หญิงท้องไม่พร้อมและต้องท้องต่อนั้นส่วนมากต้องเผชิญปัญหาที่ซับซ้อนและยากลำบากตามบริบทชีวิตของผู้หญิง ว่าเป็น “ท้องต่อในโรงเรียน” “ท้องต่อในชุมชน” และ “ท้องระหว่างอยู่ในเรือนจำ/สถานพินิจ”
อย่างไรก็ตาม ทุกคนต้องเผชิญต่อแรงกดดันและแรงเสียดทานที่ถาโถมเข้ามาหา ดังนั้นเมื่อผู้หญิงตัดสินใจท้องต่อไม่ว่าจะอยู่ในบริบทชีวิตแบบไหนช่วงเวลาตั้งครรภ์ต่อจนถึงคลอดจึงเป็นช่วงวิกฤตของชีวิตที่สังคมละเลยและมองไม่เห็น จากประสบการณ์ในการทำงานให้ความช่วยเหลือและจัดบริการสำหรับผู้หญิงท้องไม่พร้อมและท้องต่อ สรุปได้ว่า
(1) ผู้ให้บริการจะต้องรับมือกับภาวะอารมณ์ที่ไม่นิ่งของผู้ประสบปัญหาในตลอดช่วงของการทำงานให้ความช่วยเหลือ ดังนั้นผู้ให้บริการจะต้องเข้าใจเงื่อนไขและสถานการณ์เช่นนี้
(2) ทักษะสำคัญของผู้ให้บริการคือ ความรอบรู้และสามารถเชื่อมต่อบริการที่มีอยู่กระจัดกระจายในหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ชีวิตของผู้หญิงนั้นจำเป็นต้องได้รับบริการที่หลากหลายขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของชีวิต
ระบบบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ พบว่าหน่วยงานต่างๆ มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการให้บริการกับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม แต่ยังขาดรูปธรรมในระดับปฏิบัติการที่ชัดเจน หน่วยให้บริการเน้นการทำงานตามกรอบบริการของหน่วยงานของตน ขาดการบูรณการทำให้บริการไม่สามารถรองรับปัญหาของผู้หญิงที่มีความซับซ้อน ยังคงเป็นการทำงานตั้งรับในกรอบการให้บริการของหน่วยงานตนเองเป็นหลัก
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการบริการและคุ้มครองสิทธิผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมที่ตั้งครรภ์ต่อ ต้องมีการทำงานเชิงนโยบายเพื่อทำให้การตั้งครรภ์ต่อเป็นการท้องที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน แม่ได้รับการดูแล เม่ือคลอดทารกต้องมีความแข็งแรงปลอดภัย การพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิต้องเชื่อมโยงกันไปกับเส้นชีวิตตามแต่ละช่วงเวลาในชีวิตของผู้หญิงที่มีความต้องการบริการที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการจัดบริการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนทางอารมณ์และจิตใจต้องมีกระบวนการสร้างการรู้คิดทางปัญญาเพื่อเข้าใจชีวิตและอนาคตตนเอง การทำงานจึงต้องมีเป็นทีมสหวิชาชีพให้สอดคล้องกับแต่ละช่วงชีวิตของผู้หญิงที่ประสบปัญหาและเชื่อมโยงไปถึงการดูแลทารกที่จะเกิดมาด้วย
4 ข้อเสนอเชิงนโยบายฉบับที่ 2 เพื่อใช้ขับเคลื่อนการพัฒนา “แนวทางการบริการและคุ้มครองสิทธิ์ของวัยรุ่นและผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่ตั้งครรภ์ต่อ”
(1) เร่งรัดให้มีการออกกฎกระทรวงและแนวปฎิบัติที่ชัดเจนเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงท่ีท้องไม่พร้อม ตามพรบ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พศ.2559 ได้แก่ มาตรา 5 พรบ. ป้องกันและแก้ไข
ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ให้สิทธิกับวัยรุ่นในการตัดสินใจเกี่ยวข้องกับเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ พบว่า ยังมีความย้อนแย้งกับกฎหมายคุ้มครองเด็กในเรื่องการให้อำนาจกับผู้ปกครองตัดสินใจแทนลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ, กระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษา และการดำเนินการของสถานศึกษาตามพรบ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แต่ข้อ 7 วรรคหนึ่ง อนุญาตให้เด็กหยุดพักการศึกษาระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด และหลังคลอดเพื่อดูแลบุตร ตามความเหมาะสมและจัดการเรียนการสอนให้เกิดความยืดหยุ่นตามศักยภาพต่อเนื่อง ว่ามีความเสี่ยงที่ทางสถานศึกษาจะนำข้อยกเว้นนี้มาใช้เป็นการให้พักการเรียนชั่วคราว, และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นควรเร่งรัดจัดทำคู่มือเกี่ยวกับมาตรฐานการป้องกันแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมสำหรับท้องถิ่น จะช่วยให้กลไกภายในขับเคลื่อนงานได้เป็นรูปธรรมและมีกฎหมายรองรับ
(2) วางยุทธศาตร์การทำงานด้านจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้หญิงท่ีท้องไม่พร้อมและต้องท้องต่อ และพัฒนาระบบการช่วยเหลือการคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธ์ุอย่างเป็นระบบ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนใน 3 ระดับ คือ หนึ่ง การทำงานในระดับพื้นที่ โดยพัฒนาระบบการดูแลโดยใช้พื้นที่เป็นฐานการทำงาน เช่น กลุ่มจังหวัดเพื่อพัฒนาระบบการฐานข้อมูลเท่าทันสถานการณ์ปัญหา สอง การเชื่อมต่อกลไกบริการจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดสวัสดิการสังคมและสุขภาพอย่างมีคุณภาพ โดยใช้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นตัวตั้ง เพื่อทำงานแบบบูรณาการให้มีความยืดหยุ่นไปตามพลังแรงของคนที่อยู่ในหน่วยงานและแต่ละสถานการณ์ เน้นทำงานด้วยหัวใจมากกว่าการทำตามหน้าที่ และ สาม การจัดบริการที่คำนึงความต้องการของผู้หญิงเป็นเป้าหมายหลัก ต้องมีการทำงานท่ีเฉพาะเจาะจงกับแม่วัยรุ่นหรือผู้หญิงที่ต้องท้องต่อและเด็กที่เกิดขึ้น และมองเห็นความซับซ้อนของกลุ่มต่างๆ เช่น แม่ที่ป่วยเป็นจิตเวช พิการ ใช้สารเสพติด ซึ่งมักไม่มีคนดูแลในชุมชน ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย
(3) ต้องทบทวนสถานการณ์ที่ผู้หญิงและวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมและท้องต่อไม่ไปฝากครรภ์ในระบบสาธารณสุขกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากพบว่ากว่า 90% ผู้หญิงท้องไม่พร้อมไม่มาฝากท้อง หรือมาฝากท้องเมื่อใกล้คลอด และอายุของวัยรุ่นที่ท้องต่อที่เข้ามามีอายุลดลง มีปัญหาการใช้สารเสพติดในขณะที่ท้องในจำนวนที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการประเมินศักยภาพและความพร้อมในการท้องต่อ
(4) ผลักดันให้เกิดระบบสวัสดิการคุ้มครองด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อมต้องเป็นผู้ต้องคดีว่าเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการเพื่อทำให้ผู้หญิงเข้าถึงกระบวนการให้การปรึกษาและการช่วยเหลือทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในการต่อสู้คดี
ที่มา : https://choicesforum.org/ ข้อเสนอเชิงนโยบายฉบับที่ 2 เพื่อใช้ขับเคลื่อนการพัฒนา “แนวทางการบริการและคุ้มครองสิทธิ์ของวัยรุ่นและผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่ตั้งครรภ์ต่อ” เสนอโดย เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม 14 มีนาคม 2562