พระราชบัญญัติป้องกันแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.๒๕๕๙ มีสาระสำคัญให้กระทรวงหลัก ๕ กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกันทำงานแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่น โดยมีหลักการอยู่บนฐานของการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของวัยรุ่น กล่าวคือวัยรุ่นต้องได้รับการปกปิดข้อมูลส่วนตัวและการรับบริการเป็นความลับ สามารถตัดสินใจด้วยตนเอง ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ และเข้าถึงการรับบริการโดยมีสวัสดิการของรัฐรองรับ
การประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนการทำงานเรื่องการแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์วัยรุ่น เพราะทำให้หลายๆ หน่วยงานในพื้นที่ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงเรียน สภาเด็กและเยาวชน ฯลฯ เห็นความสำคัญของสถานการณ์วัยรุ่นที่เกิดขึ้น นำไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ซึ่งเป็นผลต่อดีวัยรุ่น เพราะปัญหาการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของวัยรุ่นในหลายมิติ ทั้งที่บ้าน ชุมชน โรงเรียน สถานที่ทำงาน โรงพยาบาล ฯลฯ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๑-๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้งเสริมสุขภาพ สสส. จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ เน้นการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก กับหน่วยงานส่วนอื่นๆ ในพื้นที่ ตลอดการประชุมทั้ง ๒ วัน แต่ละหน่วยงานได้นำเสนอบทเรียนการทำงานในพื้นที่ ซึ่งเนื้อความต่อไปนี้จึงขอสรุปประเด็นบทเรียนการทำงานที่น่าสนใจในส่วนการทำงานของครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และเยาวชน
ในส่วนแรกคือครอบครัวและชุมชน สำนักงานเทศบาลสงขลาสนใจเรื่องการสื่อสารระหว่างวัยรุ่นกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง จึงจัดอบรมหลักสูตรเรื่อง “ผู้ใหญ่คุยเปิดใจ ลูกหลานปลอดภัย” ให้กับพ่อแม่ของนักเรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนในสังกัดของเทศบาล ซึ่งมีจำนวน ๕ โรงเรียน เพื่อเป็นการเตรียมพ่อแม่ ผู้ปกครองให้เข้าใจสถานการณ์ของวัยรุ่นที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างรวดเร็ว เห็นความสำคัญของการรับฟังวัยรุ่นและการเป็นผู้ให้คำปรึกษากับวัยรุ่นที่บ้าน แทนการทะเลาะหรือผลักลูกออกจากบ้าน เพราะสำนักงานเทศบาลสงขลามีความเชื่อว่า หนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาวัยรุ่นต้องมาจากครอบครัว
ในระดับชุมชนหรือภาคประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นตั้งครรภ์วัยรุ่นได้ด้วย ดังในในการทำงานระดับตำบลและอำเภอ จ.อุตรดิตถ์ มีกลุ่มนักจัดรายการวิทยุ (ดีเจ) ของชุมชนที่ทำงานมานานกว่า ๑๐ ปี เป็นที่ไว้ใจและเชื่อถือของคนในพื้นที่ จึงมีวัยรุ่นจำนวนมากแวะเวียนมาขอคำปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์หรือเรื่องส่วนตัว ในเวลาต่อมากลุ่มดีเจในชุมชนจึงทำหน้าที่เป็นจิตอาสาให้คำปรึกษาเรื่องเพศกับวัยรุ่นโดยตรงด้วย
ส่วนที่สองคือโรงเรียน ที่โรงเรียนบ้านซ้งวิทยาคม อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ได้ทำงานป้องกันการตั้งครรภ์วัยรุ่นโดยมีหลักการว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่สามารถควบคุมหรือห้ามปรามได้ แต่มีสิ่งที่โรงเรียนจะสามารถทำได้คือการเตรียมและให้ความรู้นักเรียนเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยทั้งจากโรคติดต่อและการตั้งครรภ์ โดยได้แจกถุงยางอนามัยให้นักเรียนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีห้องให้คำปรึกษาโดยเฉพาะกับนักเรียนที่ต้องการคำปรึกษาด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวและเป็นความลับ ขณะที่การทำงานของครูที่โรงเรียนบ้านซ้งฯ ได้ติดตามนักเรียนอย่างใกล้ชิด และได้จัดนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อสังเกตการณ์และเสนอความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม เช่น กลุ่มที่คาดว่าจะมีเพศสัมพันธ์แล้ว กลุ่มที่คาดว่าจะมีปัญหาจากการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
นอกจากนั้น ที่โรงเรียนน้ำริดวิทยา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ยังได้ออกแบบหลักสูตรโรงเรียนทางเลือก สำหรับนักเรียนหญิงที่ตั้งครรภ์ให้สามารถเรียนต่อในระบบได้โดยที่ไม่ต้องลาออกหรือย้ายโรงเรียน อีกทั้งยังรับนักเรียนหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่สามารถศึกษาต่อในโรงเรียนเดิมจากทุกจังหวัดในภาคเหนือมาเรียนที่ต่อที่โรงเรียนน้ำริดวิทยาด้วย
เรื่องโดย ถิรนันท์ ถิรสิริสิน ทีมเว็บไซต์ RSAthai.org
อ่านต่อ : ผู้ใหญ่-เยาวชน ใส่ใจ และลงมือทำ : บทเรียนทำงานป้องกันตั้งครรภ์วัยรุ่นในพื้นที่ (2)
https://rsathai.org/contents/15438