ในส่วนที่สามคือการทำงานของเยาวชน ที่จังหวัดภูเก็ตพบว่า เยาวชนหรือวัยรุ่นที่อยู่ในสถานการณ์การตั้งครรภ์อยากพูดคุยและปรึกษากับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันมากกว่าอยากคุยกับผู้ใหญ่ จังหวัดจึงได้พัฒนารูปแบบการให้คำปรึกษาเรื่องตั้งครรภ์ไม่พร้อมโดยให้แกนนำเยาวชนเป็นที่ปรึกษา หรือช่วยเหลือเพื่อนที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งภายหลังพบว่าแนวทางดังกล่าวช่วยลดอัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในพื้นที่ได้จริง

นอกจากนี้ ในการทำงานของสภาเด็กและเยาวชน ซึ่งมีทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ได้ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นด้วย ดังการทำงานของในสภาเด็กและเยาวชน ต.บางสีทอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ที่เน้นการทำกิจกรรมร่วมกันของเยาวชนในทุกๆ เดือน นำไปสู่การมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ช่วยลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์เพราะมีกิจกรรมร่วมกันสม่ำเสมอ ส่วนที่สภาเด็กและเยาวชน อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ได้ชวนวัยรุ่นมาร่วมกันออกแบบกิจกรรมเรื่องเพศที่แต่ละคนสนใจ จึงนำไปสู่การทำกิจกรรมอย่างมีส่วนร่วม เช่น กิจกรรมให้ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การใส่ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง การใช้ยาคุมกำเนิดอย่างถูกวิธี ฯลฯ

ขณะที่สภาเด็กและเยาวชน จ.อุบลราชธานี ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายระดับจังหวัด ได้แก่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ และได้ร่วมกันเก็บข้อมูลสถานการณ์ของเยาวชนใน ๒๓๘ ตำบลทั้งจังหวัด และในส่วนสุดท้ายคือการทำงานของสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ที่ขณะนี้กำลังดำเนินการออกแบบเครื่องมือสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นทั่วประเทศในประเด็นการตั้งครรภ์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้ในการทำงานประเด็นการตั้งครรภ์วัยรุ่นต่อไป

ดังที่กล่าวข้างต้นว่าการทำงานประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จำเป็นต้องทำงานร่วมกันของหลายๆ หน่วยงานในพื้นที่ อย่างเป็นเครือข่ายและบูรณาการร่วมกัน ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละหน่วยงานก็มีภาระงานหลัก อีกทั้งการเชื่อมต่อกันก็อาจจะมีรอยต่อหรือช่องว่างที่ประสานกันยาก จากเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ มีบทเรียนการทำงานเครือข่ายจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสิงห์บุรี คือการมีเป้าหมายร่วมของหน่วยงานในการขับเคลื่อนประเด็นการตั้งครรภ์วัยรุ่น รวมถึงการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น ประชุมร่วมกันบ่อยๆ เพื่อนำเสนอความคืบหน้าการทำงาน จะช่วยให้คนทำงานรู้สึกยังเชื่อมต่อและยึดโยงกันเสมอ

ขณะที่เสียงสะท้อนจากสภาเด็กและเยาวชนเอง ก็อยากให้ผู้ใหญ่ในพื้นที่ให้โอกาสเยาวชนได้มีส่วนร่วมอย่างมีความหมายกับการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ ไม่ใช่เพียงแค่ให้เยาวชนเข้าไปส่วนประกอบของห้องประชุมเท่านั้น แต่อยากให้มีการให้โอกาสเยาวชนได้แลกเปลี่ยน เสนอความคิดเห็น โดยมีผู้ใหญ่ที่รับฟังอย่างจริงใจ

และสำหรับบทเรียนส่วนสุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ เยาวชน หรือใครจากหน่วยงานใดก็ตาม การทำงานในประเด็นการตั้งครรภ์วัยรุ่นต่างก็ต้องการใส่ใจและลงมือทำ.

เรื่องโดย ถิรนันท์ ถิรสิริสิน ทีมเว็บไซต์ RSAThai.org
ผู้ใหญ่-เยาวชน ใส่ใจ และลงมือทำ : บทเรียนทำงานป้องกันตั้งครรภ์วัยรุ่นในพื้นที่ (1)
คลืกที่นี่ : https://rsathai.org/contents/15435


ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 3.7 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 3

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้