การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ดำเนินการโดยศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม สังกัด กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2520 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2520 และตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการและดูแลด้านการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม โดยปฏิบัติงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2533 และตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ในส่วนภูมิภาคได้แต่งตั้งให้มีคณะอนุกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมประจำจังหวัดขึ้นทุกจังหวัดเพื่อทำหน้าที่ โดยมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเป็นสำนักงานเลขานุการ
การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นการให้บริการด้านสวัสดิการเด็ก การดำเนินงานให้รับเด็กเป็นบุตร บุญธรรมจำเป็นต้องอาศัยหลักของกฎหมายควบคู่กับหลักการทางสังคมสงเคราะห์ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2533 กฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร เป็นต้น
การขอรับเด็ก (ผู้เยาว์) เป็นบุตรบุญธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
คุณสมบัติตามกฎหมายของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
1. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี (นับตั้งแต่วันเกิด ถึงวันที่ยื่นคำร้อง)
2. ต้องมีอายุมากกว่าเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรม ไม่น้อยกว่า 15 ปี
3. ต้องเป็นผู้ที่ไม่ต้องห้ามเป็นผู้ปกครองเด็กตามมาตรา 1587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่
- ผู้ซึ่งศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ผู้ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลาย
- ผู้ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์ หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์
- ผู้ซึ่งมีหรือเคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์ ผู้บุพการีหรือพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดา หรือมารดากับผู้เยาว์
- ผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายได้ทำหนังสือระบุชื่อ ห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง
หลักเกณฑ์การขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
1. ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นคนสัญชาติไทย ที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ซึ่งขอรับเด็กสัญชาติไทยที่บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาเป็นผู้ให้ความยินยอม หรือเด็กที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของบิดามารดา และได้ผ่านการทดลองเลี้ยงดูครบกำหนดแล้ว
2. ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นคนสัญชาติไทย ที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ซึ่งขอรับเด็กสัญชาติไทยที่ได้รับยกเว้นการทดลองเลี้ยงดูตามกฎหมาย
คุณสมบัติทางสังคมของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
1. เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ ครอบครัวอบอุ่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวดี
2. ต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ
3. ต้องมีฐานะการครองชีพที่มั่นคง มีทรัพย์สินและรายได้ที่แน่นอน ไม่มีหนี้สิน และมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูหรือสนับสนุนการศึกษาของเด็ก
4. ต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ถูกสุขลักษณะ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่อยู่ห่างไกลจากชุมชนมากเกินไป
5. ต้องมีเวลาให้กับเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรม ให้ความสำคัญ และเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิด
6. ต้องมีเหตุผลในการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่เหมาะสม ไม่เชื่อถือเรื่องโชคลาง รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอย่างเปิดเผยและจริงใจ ไม่ได้รับการคัดค้านจากสมาชิกในครอบครัว ญาติพี่น้อง
7. ต้องไม่มีบุตร หรือเด็กในความอุปการะมากเกินไป เพื่อให้บุตรบุญธรรมได้รับความรักและการเอาใจใส่อย่างเต็มที่
8. ไม่เคยมีประวัติกระทำความผิดตามกฎหมาย หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ต่อบุคคลอื่นหรือประพฤติผิดศีลธรรมและจารีตประเพณีอันดีงาม
9. ต้องมีวุฒิภาวะเหมาะสมที่จะอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนให้บุตรบุญธรรมประพฤติตนเป็นคนดี
เอกสารประกอบการพิจารณาของฝ่ายผู้ขอและคู่สมรส
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาบัตรข้าราชการ คนละ 1 ฉบับ
2. สำเนาทะเบียนบ้าน คนละ 1 ฉบับ
3. สำเนาทะเบียนสมรส 1 ฉบับ หรือสำเนาทะเบียนการหย่า หรือสำเนาใบมรณะบัตร (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)
4. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล คนละ 1 ฉบับ
5. ใบรับรองแพทย์แสดงว่ามีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ คนละ 1 ฉบับ (ไม่เกิน 6 เดือน)
6. รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 2 นิ้ว เท่านั้น คนละ 1 รูป (ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน)
7. หากผู้ขอมีบุตรอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บุตรต้องมาลงนามยินยอมให้บิดามารดารับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ และแนบสำเนาบัตรประชาชนของบุตร คนละ 1 ฉบับ หากบุตรไม่สามารถมาลงนามได้ ให้ผู้ขอรับเด็กทำบันทึกระบุเหตุผลที่บุตรไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอม และให้บุตรนั้นทำบันทึกแสดงความยินยอมให้บิดามารดารับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
8. หากคู่สมรสไม่ขอรับเด็กเป็นบุตรด้วย คู่สมรสต้องมาลงนามแสดงความยินยอมให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมฝ่ายเดียวต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่คู่สมรสไม่อาจให้ความยินยอม ไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ต้องมีคำสั่งอนุญาตของศาลแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้น
9. กรณีผู้ขอรับเด็ก (มีสัญชาติไทย ไม่ได้ CITIZEN หรือ GREENCARD) ทำงานและอาศัยอยู่ต่างประเทศให้นำสำเนาหนังสือเดินทาง หนังสืออนุญาตทำงาน หนังสือรับรองการทำงานและรายได้ และทำหนังสือขอความร่วมมือเยี่ยมบ้านในต่างประเทศโดยต้องระบุสถานทูต หรือสถานกงสุลไทยที่ใกล้ที่อยู่ของตน และยินยอมจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ในการติดตามเยี่ยมบ้าน และติดตามการทดลองเลี้ยงดูเด็ก (กรณีต้องทดลองเลี้ยงดูเด็กตามกฎหมาย) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (หลักฐานที่เป็นภาษาต่างประเทศ ต้องแปลเป็นภาษาไทย โดยแปลอย่างถูกต้อง และได้รับการรับรอง)
10. หากผู้ขอรับเด็กมีคู่สมรส ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่อยู่กินร่วมกันฉันท์สามีภรรยา คู่สมรสนั้นไม่สามารถขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมร่วมได้ และต้องลงนามในเอกสารคำร้องขอรับเด็ก พร้อมมีเอกสารหลักฐานดังกล่าวข้างต้น
เอกสารประกอบการพิจารณาของบิดามารดาเด็ก
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรข้าราชการ คนละ 1 ฉบับ
- สำเนาทะเบียนบ้าน คนละ 1 ฉบับ
- สำเนาทะเบียนสมรสหรือสำเนาทะเบียนการหย่าและบันทึกการหย่าซึ่งระบุว่าฝ่ายใดเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตร หรือสำเนาใบมรณะบัตร (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต) จำนวน 1 ฉบับ
- หลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล คนละ 1 ฉบับ
- รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 2 นิ้วเท่านั้น คนละ 1 รูป (ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน)
- บิดามารดาเด็กต้องมาลงนามแสดงความยินยอมมอบเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ถึงแม้บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตหรือถูกถอนอำนาจปกครอง
เอกสารประกอบการพิจารณาของเด็ก
- สำเนาสูติบัตรเด็ก จำนวน 1 ฉบับ
- สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ฉบับ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ฉบับ
- สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ – นามสกุล จำนวน 1 ฉบับ
- รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 2 นิ้ว เท่านั้น จำนวน 1 รูป (ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน) กรณีเป็นเด็ก อายุตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี อนุโลมให้ใช้รูปขนาดโปสการ์ดได้
- กรณีเด็กมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี เด็กต้องมาลงนามแสดงความยินยอมเป็นบุตรบุญธรรมต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่
- กรณีเด็กมีอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้เด็กเขียนบันทึกระบุเหตุผลที่ต้องการ และยินยอมเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ขอรับเด็ก
เอกสารประกอบการพิจารณาของผู้รับรอง จำนวน 2 คน ผู้รับรองต้องรู้จักกับผู้ขอรับเด็ก เช่น บิดามารดา ญาติพี่น้อง เพื่อน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หัวหน้าหน่วยงาน
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรข้าราชการ คนละ 1 ฉบับ
2. สำเนาทะเบียนบ้าน คนละ 1 ฉบับ
ผู้รับรองไม่ต้องมาในวันที่ผู้ขอรับเด็กนำคำร้องมายื่น แต่ต้องรับรองสำเนาเอกสารของตนเองให้เรียบร้อย
** บุคคลที่เชื่อถือได้ ในแบบ บธ.4 หน้าที่ 5, ผู้รับรองในแบบ บธ. 7 ข้อ 11 และผู้รับรองที่ลงนามในหนังสือรับรองต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันเท่านั้น
***การรับรองใน แบบ บธ. 7 ข้อ 11 ของผู้รับรอง ให้เขียนรับรองผู้ขอรับเด็กว่ามีความเหมาะสมที่จะเลี้ยงดูเด็กอย่างไรบ้างตามความคิดเห็นของผู้รับรอง เช่น ความมั่นคงของรายได้ หน้าที่การงาน ความประพฤตินิสัยใจคอ อารมณ์จิตใจ สภาพครอบครัว และให้ระบุระยะเวลาที่ผู้ขอรับเด็กได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กด้วย
หมายเหตุ
1. เอกสารหลักฐานของทุกคน (ยกเว้นของผู้รับรอง) ให้นำฉบับจริงมาแสดงด้วย ในวันที่นำคำร้องขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมายื่น
2. ไม่อนุญาตให้ผู้ขอรับเด็ก หรือบุคคลอื่นใดนำหนังสือแสดงความยินยอมต่าง ๆ ไปให้ผู้ที่ต้องมาลงนามต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ไปลงนามที่อื่นทุกกรณี
กรณีชาวต่างชาติขอรับบุตรติดภรรยาหรือหลานของภรรยาเป็นบุตรบุญธรรม
สถานที่ติดต่อยื่นเรื่อง
ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เลขที่ 255 ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 0-2354-7500, 0-2354-7509 (ตั้งอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี)
เอกสารที่ต้องเตรียม (พร้อมทั้งเตรียมเอกสารฉบับจริงเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่)
ผู้ขอรับเด็กและคู่สมรส
1. สำเนาหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง
2. สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน คนละ 2 ฉบับ
3. ใบรับรองจากแพทย์ซึ่งแสดงว่ามีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ คนละ 1 ฉบับ
4. รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 2 นิ้ว คนละ 4 รูป พร้อมทั้งรูปบุตรในครอบครัว (ถ้ามี)
5. เอกสารแสดงทรัพย์สิน
6. เอกสารรับรองการทำงานและรายได้ และเอกสารรับรองการเงินย้อนหลัง ไม่เกิน 6 เดือนและใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว (WORK PERMIT)
7. สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่า
8. สำเนาใบสำคัญถิ่นที่อยู่ หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน คนละ 2 ฉบับ
9. เอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศที่ผู้ขอมีภูมิลำเนาอยู่รับรองว่าสามารถรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมาย
10. เอกสารจากหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองที่ผู้ขอมีภูมิลำเนาอยู่ ซึ่งรับรองว่าสามารถนำเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเข้าประเทศได้
11. เอกสารรับรองความประพฤติและความเหมาะสมทั่วไปจากบุคคลที่เชื่อถือได้ 2 คน เอกสารจะต้องได้รับการรับรองจากสถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศผู้ขอด้วย
บิดามารดาเด็กหรือผู้ปกครอง
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง คนละ 2 ฉบับ
2. สำเนาทะเบียนบ้านคนละ 2 ฉบับ
3. สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่า พร้อมบันทึกการหย่าหรือสำเนาใบมรณะบัตรหรือคำสั่งศาล
4. รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 2 นิ้ว คนละ 2 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
5. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ – สกุล
เด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม
1. สำเนาสูติบัตรเด็ก 2 ฉบับ
2. สำเนาทะเบียนบ้านเด็ก 2 ฉบับ
3. สำเนาการเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ถ้ามี)
4. รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 2 นิ้ว 2 รูป (ถ้าเป็นเด็กอนุโลมให้ใช้รูปถ่ายขนาดโปสการ์ดได้)
5. ถ้าเด็กอายุเกิน 15 ปี บริบูรณ์ ถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 2 ฉบับ
หมายเหตุ
ติดต่อศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม E-mail Address:adoption@loxinfo.co.th
*** กรณีชาวต่างประเทศยื่นคำขอรับเด็กผ่านหน่วยงานต่างประเทศ จะไม่อนุญาตให้บิดามารดาเด็กลงนามในหนังสือแสดงความยินยอม (บธ.6) ก่อนที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจะได้รับเอกสารคำขอรับเด็กจากหน่วยงานของประเทศที่ผู้ขอรับเด็กมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่
ที่มา : สหทัยมูลนิธิ.2554. เอกสารการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม : ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม.กรมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์