บาปไหม แน่ไหม กับความรู้สึกว่าผู้หญิงมีปัญหา เป็นหน้าที่จะต้องช่วย
ช่วงต้นเดือนกันยายน 2563 ลุงหมอได้ไปเยี่ยมดูงานการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่โรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียงแห่งหนึ่งในจังหวัดเลย ซึ่งอยู่ท่ามกลางภูเขา โดยร่วมไปกับทีมงานกรมอนามัย เครือข่ายอาสาRSA พยาบาลจากโรงพยาบาลหลายแห่งในภาคอิสาน
ที่น่าสนใจมากอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้จัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้ อยากจะขอเล่าว่า คุณหมอ คุณพยาบาล คิดอย่างไรจึงเต็มใจให้บริการ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในวัย 57 ปี ท่านกล่าวต้อนรับพวกเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น “รู้สึกดีใจจริงๆ เราไม่ได้ทำอะไรใหม่ คิดว่าการมีเครือข่ายเป็นความภาคภูมิใจ ชาวบ้านหรือความทุกข์มีอุปสรรคการเข้าถึงบริการจากการมีเขต ,อำเภอขวางกั้น การมีเครือข่ายกำลังทำลายกำแพงนี้”
ตอนหนึ่งท่านผู้อำนวยถามว่า : “เครือข่าย RSA เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นผู้ก่อตั้ง” ท่านแสดงความชื่นชมเครือข่ายอาสา RSA
ผมก็ได้ตอบไปว่า : “กรมอนามัย เป็นผู้ก่อตั้งเครือข่ายแพทย์ สหวิชาชีพอาสา RSA เพื่อให้มีการสร้างระบบการส่งต่อ-รับส่งต่อการยุติการตั้งครรภ์สำหรับผู้หญิงท้องไม่พร้อมตามกฎหมายและเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปทั่วประเทศ ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้เข้าถึงบริการที่เป็นมิตร ปลอดภัย ในราคาไม่แพง ลดการตายและบาดเจ็บจากการทำแท้งเถื่อน”
โรงพยาบาลมีแพทย์ 9 ท่าน ทุกคนไม่มีใครเปิดคลินิกส่วนตัว ผู้อำนวยการบอกว่าถ้าคนไข้อยากเจอหมอให้มาเจอได้ที่โรงพยาบาล เพราะหมอทุกคนอยู่เวรได้ ภรรยาผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นอายุรแพทย์ แต่เป็นอายุรแพทย์ที่ช่วยทำการยุติการตั้งครรภ์ให้ผู้หญิงจำนวนมากมาก่อน เพราะมีความเห็นใจ เข้าใจปัญหาท้องไม่พร้อม
สำหรับแรงบันดาลใจเป็นเพราะช่วงเรียนแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มีอาจารย์แพทย์ได้สอนให้ทำการยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีกระบอกดูดสุญญากาศ เมื่อจบมาทำงานที่โรงพยาบาลก็จึงใช้เทคนิคนี้ช่วยยุติการตั้งครรภ์ให้ผู้หญิงเรื่อยมา ในช่วงที่ยังไม่มีสูติแพทย์
ต่อมาได้ส่งต่อการช่วยเหลือผู้หญิงท้องไม่พร้อมให้กับสูติแพทย์ ซึ่งแพทย์หนุ่มชื่อ ส. ท่านนี้ เรียนจบเป็นสูติแพทย์ปี 2548 ได้มาทำงานที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เริ่มแรกที่ทำให้ต้องมายุติการตั้งครรภ์ มาจากการที่โรงพยาบาลมีคลินิกตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดซึ่งจะมีการเจาะน้ำคร่ำเพื่อหาความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารก เมื่อพบทารกมีความผิดปกติรุนแรง ทารกพิการจึงตามมาด้วยการยุติการตั้งครรภ์ ทัศนคติในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ของคุณหมอส. ค่อยๆ พัฒนาเปลี่ยนแปลงตามลำดับดังนี้
– ภรรยาท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่เคยเป็นหมอให้การยุติการการตั้งครรภ์มาก่อน ชักชวนและมอบหมายให้มาช่วยผู้หญิงแทน
– ส่วนตัวไม่สนับสนุนการทำแท้ง รู้สึกผิดเสมอเวลาทำแท้งว่าจะบาปไหม แน่ไหม ก็ยังกลัวบาป ยังไม่ได้ทำเต็มที่
– แต่ต่อมารู้สึกว่าผู้หญิงเขามีปัญหา จึงเริ่มต้นให้การยุติการตั้งครรภ์
– ทำเพราะว่าเป็นหน้าที่ เจอปัญหาคนทำแท้งเถื่อนมาเกิดโรคแทรกซ้อนจึงช่วย
– มีความเห็นว่า ทางเลือกในการบริการ เป็นเรื่องแปลกที่จะมีขั้นตอนเยอะมาก จนทำให้คนไข้รู้สึกยุ่งยาก ไม่อยากเข้ามาปรึกษา เช่น ปรึกษาหมอเด็ก จิตแพทย์ จนอายุครรภ์มาก ทั้งที่คนไข้มาปรึกษาเร็ว
เรื่องเล่าลุงหมอ ‘ท่ามกลางขุนเขา’ เมื่อผู้หญิงเผชิญปัญหา เป็นหน้าที่ที่ต้องช่วย (ตอนแรก)
โดย นพ.เรืองกิตติ์ ศิริกาญจนกูล ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสา RSA
อ่านตอนจบคลิก : https://rsathai.org/contents/17282