ประเทศไทยยังมีเรื่องที่สะเทือนใจต่อเนื่องกับผู้หญิงทำแท้งที่ลงเอยด้วยการพาดหัวข่าวที่สะท้อนถึงปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจหลาย ๆ อย่างของผู้ประสบปัญหาและสื่อ ดูได้จากข่าวเหล่านี้
28 ม.ค. 2564 “พบศพทารกคาดอายุครรภ์ 6 เดือนพันด้วยโสร่งนำมาทิ้งบ่อขยะจังหวัดกระบี่”
24 เม.ย. 2564 “จับสาววัย 30 ทิ้งศพทารกอายุครรภ์ 7 เดือนในห้องน้ำหญิง สนามบินดอนเมือง”
26 เม.ย. 2564 “พบศพทารกอายุครรภ์ 4-5 เดือน ยัดทิ้งชักโครกห้องน้ำวัดดัง กทม.”
27 เม.ย. 2564 “อีกศพทารกใกล้คลอดอายุครรภ์ไม่ต่ำกว่า 8 เดือน ถูกแม่ใจยักษ์ทิ้งยัดชักโครกโรงงาน พบว่าเป็นพนักงานหญิง”
12 ก.ย. 2564 “พบศพทารกอายุครรภ์ 6 เดือน ถูกเผาไหม้เกรียมทิ้งในพงหญ้า คาดฝีมือแม่ใจร้าย จ.ระยอง”
13 ก.ย. 2564 “รวบแล้วมือเผา-ทิ้งศพทารก เป็นพ่อแม่วัย 17 อ้างทำแท้งไม่มีปัญญาเลี้ยง”
8 ต.ค. 2564 “ผงะพบศพทารก 8 เดือน ถูกทุบหัว รัดคอ ใส่กระเป๋าทิ้งกลางทุ่งนา จ.ชัยภูมิ”
10 ต.ค. 2564 “ตร. ชัยภูมิจับแม่วัย 19 ลูกคลอดร้องดัง ตกใจรัดคอทารกจนตายแล้วยัดกระเป๋า”
เครือข่ายผู้ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงท้องไม่พร้อม ได้สะท้อนความคิดเห็นต่อข่าวดังกล่าวว่า
(1) ยังมีความไม่เข้าใจกฎหมายทำแท้ง หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนของคู่วัยรุ่น ผู้นำเสนอข่าว และอาจเป็นตำรวจด้วย โดยอยากให้สังคมเข้าใจว่า การทำแท้งนั้นถูกกฎหมาย การเกิดภาพซากตัวอ่อนไม่ต้องตกใจ, ด่าทอ พ่อแม่ใจยักษ์หรือคิดว่าผิดกฎหมายแน่ ๆ ปัญหาการจัดการซากตัวอ่อนต่างหากที่เป็นปัญหา สำหรับตัวอ่อนไม่เกิน 12 สัปดาห์นั้น กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอนุญาตให้ใส่ถุงแดง (ขยะติดเชื้อ) ทิ้งได้
(2) ต้องมองและทำความเข้าใจข้อเท็จจริงของสาเหตุที่เกิดจากความไม่พร้อมเลี้ยงดูของวัยรุ่นอายุ 17 ปี ซึ่งอยู่ในวัยเรียน สื่อใช้คำที่ไม่ควรใช้ว่า “ไม่มีปัญญาเลี้ยงดูเด็ก” สื่อควรทบทวน และทำความเข้าใจสิทธิของผู้หญิงในการทำแท้งตามกฎหมายอาญาเสียใหม่ เพราะสื่อและสังคมทำให้ภาพการทำแท้งเป็นภาพที่น่ากลัว ดูเลวร้ายไปหมดทุกรูปแบบ กระทั่งสิทธิที่จะไม่เลี้ยงดูเด็กเองก็ยังถูกสังคมประณาม กล่าวโทษเด็กโดยไม่ได้มองสภาวะแวดล้อมว่าเอื้อให้เด็กเข้าถึงแหล่งบริการที่ดี ไม่เป็นข่าวแบบนี้ได้หรือไม่ ที่พวกเขาไม่กล้าขอความช่วยเหลือ, ไม่กล้าเปิดเผย และแก้ไขปัญหากันเอง ท้ายสุดต้องกลายเป็นเหยื่อของสื่อ, ของสังคมเพราะอะไร
ที่แน่ ๆ ไม่ใช่เพราะปัญหาส่วนตัวของเด็กอย่างเดียวแน่นอน อันที่จริงสื่อและสังคม ช่วยลดข่าวเรื่องแบบนี้ลงได้ ด้วยการทำให้ผู้ประสบปัญหาเข้าถึงสวัสดิการสังคมที่พึงได้ ไม่ว่าเขาจะเลือกทางไหน รวมถึงเรื่องการรักษาความลับ หากไม่ต้องการให้ครอบครัวและสังคมทราบ
(3) เรายังเจอข่าวแบบนี้ได้เรื่อย ๆ แบบนี้ใครจะช่วยน้องได้ไหม ถ้าน้องเขาได้รับข้อมูลเรื่องแหล่งบริการ มีคนให้คำปรึกษาที่รอบด้าน น้องจะไม่ได้รับผลกระทบในด้านสังคมและกฎหมาย ปัญหาท้องไม่พร้อมเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย แต่จะข้ามผ่านปัญหาไปได้โดยไม่มีผลกระทบ สังคมต้องช่วยกัน ไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา และมีทางเลือกให้ผู้หญิง เราก็จะลดปัญหาดังกล่าวได้ ขนาดดิฉันเป็นผู้ใหญ่แล้วถือว่ามีความพร้อมระดับหนึ่ง มีลูกเล็ก ๆ สองคน พร้อม ๆ กัน รู้เลยว่ามันต้องใช้พลังงานเยอะมากทั้งพลังงานกาย, ใจ และถ้าผู้หญิงที่เกิดท้องไม่พร้อม คงไม่ง่ายที่จะเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพได้
เรามาช่วยกันทำให้ผู้หญิงทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง, เด็ก, วัยรุ่น รู้ว่าต้องทำอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมายเมื่อเกิดท้องไม่พร้อม ? (มีต่อ)
เรื่องโดย นพ.เรืองกิตติ์ ศิริกาญจนกูล
อ่านตอนจบ https://rsathai.org/contents/18599