โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ร่วมกับ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กำหนดจัดการเสวนาเชิงนโยบาย “ผ่าทางตันกฎหมายทำแท้งไทย : การทำแท้งมิใช่ความอาญา แต่คือบริการสุขภาพ !” ในวันที่ 12 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

มีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างความเข้าใจต่อกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ วิเคราะห์สถานการณ์และประเด็นต่างๆ จากกรณีศึกษา แลกเปลี่ยนทัศนะในเรื่องกฎหมายและการยุติการตั้งครรภ์ประชาสัมพันธ์ความร่วมมือของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 60 คน ประกอบด้วย ทีมนักกฎหมาย มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายสถาบันกฎหมายอาญา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เครือข่ายอาสา RSA สายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 กลุ่มทำทาง แพทยสภา เจ้าหน้าที่โครงการ

ความเป็นมา
โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม เกิดจากความร่วมมือการทำงานของสองเครือข่าย คือ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และเครือข่ายอาสา RSA (Referral system for Safe Abortion) มีเป้าหมายในการพัฒนาเครือข่ายบริการทั้งตั้งครรภ์ต่อ และยุติการตั้งครรภ์ให้มีความเข้มแข็ง เข้าถึงได้ ให้บริการได้อย่างปลอดภัยและเป็นมิตร รวมทั้งการแสวงหาความต่อเนื่องในการดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนในระบบต่อไป โดยโครงการมีวัตถุประสงค์ คือ พัฒนาความเข้มแข็งและเครือข่ายหน่วยบริการที่ดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ต่อ ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึงด้วยการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของเครือข่ายอาสา RSA สร้างความเข้าใจสาธารณะต่อสิทธิในทางเลือกของวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมโดยใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ การรณรงค์ และเวทีเสวนาต่างๆ และจัดการองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าอุปสรรคด้านหนึ่งของการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย คือ ข้อกฎหมายที่ยังไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้แพทย์ผู้ให้บริการในเครือข่ายอาสา RSA ได้รับผลกระทบจากการถูกตั้งข้อกล่าวหา หรือถูกตรวจสิ่งผิดกฎหมายทั้งๆ ที่ได้ให้บริการภายใต้นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ และแม้ว่าผลการตรวจค้นจะไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ แต่ก็ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับแพทย์และเจ้าหน้าที่ให้บริการอย่างมากเป็นปัญหาที่สำคัญ และทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการของผู้ประสบปัญหาเป็นอย่างยิ่งโดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีแพทย์ที่ประสบเหตุดังกล่าวถึง 3 ราย ทั้งหมดให้บริการในคลินิกเอกชน

ทางเครือข่ายท้องไม่พร้อม ฯ และเครือข่ายอาสา RSA จึงได้ร่วมกันยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม 2561 ร้องเรียนความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง โดยให้เหตุผลว่า บทบัญญัติมาตรา 301และ 305 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561

ล่าสุด วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยชี้ขาดว่าประมวลอาญามาตรา 301 ที่กำหนดให้การที่หญิงทำแท้งลูกเป็นความผิดอาญา ขัดต่อบทบัญญัดิรัฐธรรมนูญ เหตุเป็นสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายและความเท่าเทียม โดยให้เวลาไปแก้ไขภายใน 360 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย หลังจากนั้นจะถือว่ามาตรา 301 สิ้นผลไป เพราะขัดฐรรรมนูญ

ส่วนการทำแท้งด้วยเหตุจำเป็นโดยแพทย์ และหญิงที่เป็นมารดายินยอมให้ทำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 นั้น แม้ศาลเห็นว่าสามารถทำได้และไม่ขัดรัฐรรรมนูญ แต่ศาลโดยมติเสียงข้างมากเห็นว่า ทั้งมาตรา 301 และ 305 สมควรได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์

โดยการเสวนาเชิงนโยบาย “ผ่าทางตันกฎหมายทำแท้งไทย : การทำแท้งมิใช่ความอาญา แต่คือบริการสุขภาพ !” จะมี Facebook Live ตลอดการเสวนา ผู้สนใจสามารถรับชมผ่านเพจ RSATHAI ได้ในวันเวลาดังกล่าว

ดำเนินการเสวนาโดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล
กำหนดการ
09.00 – 09.30 น. :
เปิดการประชุม โดย นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย

09.30 – 10.00 น. :
ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติ เก่ียวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ โดย ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา กรรมการแพทยสภา



10.00 – 12.00 น. :
นัยของผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา 301-305 ว่าด้วยเรื่องการทำแท้ง โดย รศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความเห็นจากผู้ปฎิบัติงาน
มาตรา 301 ในมุมมองของผู้ประสบปัญหา ผู้แทนกลุ่มทำทาง คุณนิศารัตน์ จงวิศาล


มาตรา 302 และ 305 ในมุมมองผู้ให้บริการ ผู้แทนเครือข่ายอาสา RSA
นายแพทย์วรชาติ มีวาสนา นายแพทย์วิเชียร พงศ์ติยะไพบูลย์


12.00 – 12.30 น.
ระดมความคิดเห็น ก้าวต่อไป … หลังคำวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ที่มา : โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม


ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 7

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้