กฎหมายยังคงอยู่..ตราบเท่าที่กฎหมายนั้นส่งผลในทางบวกต่อผู้คนในสังคม แต่ถ้าเป็นไปในทางตรงกันข้าม ก็ควรมีการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยมีแรงกระเพื่อมที่เสริมต่อการแก้ไขกฎหมายทำแท้งหลายประการ

ประการแรก:
ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ดีเลิศ มีเทคโนโลยียุติการตั้งครรภ์ด้วยยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างเท่าเทียมนานาอารยประเทศ แต่ผู้หญิงที่ประสบปัญหากลับต้องหาซื้อยาทำแท้งเถื่อนทางอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญกับปัญหาอัตราการตายของแม่จากการตั้งครรภ์ติดอันดับต้นๆ ของโลก สาเหตุหลักคือการตกเลือดและติดเชื้อในกระแสเลือด

ประการที่สอง:
มาตรา 301 ทำให้ผู้หญิงต้องแก้ไขปัญหาอย่างหลบๆซ่อนๆ ไม่กล้าเปิดเผยตนเองเพื่อขอเข้ารับการปรึกษาหรือบริการสุขภาพ เนื่องจากการตัดสินใจเลือกยุติการตั้งครรภ์มีนัยต่อการทำผิดต่อกฎหมายอาญาความผิดฐานทำให้แท้งลูก เสี่ยงต่อการถูกฟ้องดำเนินคดี ต้องหันไปใช้บริการที่ผิดกฎหมาย เช่น การรับบริการที่คลินิกเถื่อน การซื้อยาจากอินเทอร์เน็ต

ประการที่สาม:
แพทย์ผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถูกรีดไถเงิน ถูกตั้งข้อกล่าวหาในมาตรา 302 ทั้ง ๆ ที่กฎหมายได้อนุญาตให้แพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ตามมาตรา 305 แต่ผู้ขายยาทำแท้งทางอินเทอร์เน็ต หรือผู้ที่เปิดคลินิกทำแท้งเถื่อน กฎหมายกลับล้มเหลวในการบังคับใช้กับคนกลุ่มนี้ ส่งผลกระทบในทางลบต่อระบบบริการสุขภาพ ขวัญและกำลังใจของผู้ให้บริการสุขภาพที่มุ่งเน้นการป้องกันการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตของผู้หญิงจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย 

ประการสุดท้าย:
การแก้ไขกฎหมายทำแท้ง กลายเป็นกระแสโลกที่ประเทศต่างๆ ทยอยกันปรับแก้เพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆ อันเกิดมาจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย แม้แต่ประเทศไอร์แลนด์ที่มีกฎหมายทำแท้งเข้มงวดที่ห้ามทำแท้งในทุกกรณี ก็ได้ปรับแก้กฎหมายให้ผู้หญิงสามารถตัดสินใจต่อการตั้งครรภ์ของตนเองได้

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 1

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้